CLC คืออะไร

หลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐาน กับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา (Continuous and Linking Curriculum : CLC)

CLC หมายถึง หลักสูตรที่สามารถเทียบโอนหน่วยกิตหรือประสบการณ์ จากสถานศึกษาแห่งหนึ่งเพื่อให้ได้รับการรับรอง (Accreditation) ในสถานศึกษาอื่นในสมรรถนะเดียวกัน โดยมีกระบวนการอย่างเป็นระบบเชื่อมโยงกันอย่างน้อย 2 ระดับ โดยมีองค์ประกอบพื้นฐานของหลักสูตร

1.1 เกี่ยวกับ CLC

การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพของมนุษย์ทั้งในด้านความรู้ ความคิด การปฏิบัติคุณธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนให้เป็นคนดี มีปัญญา มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีขีดความสามารถในการแข่งขัน การเพิ่มศักยภาพของผู้เรียนให้สูงขึ้น สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข  บนพื้นฐานของความเป็นไทยและความเป็นสากล รวมทั้งมีความสามารถในการประกอบอาชีพหรือศึกษาต่อ ตามความถนัดและความสามารถของแต่ละบุคคล  แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาประเทศ คือ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข เศรษฐกิจพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สังคมเป็นธรรม  ฐานทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน” พัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่ง และมีคุณภาพ สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม สร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีภาครัฐของประชาชนเพื่อประชาชนและประโยชน์ส่วนรวม  มี 6 ยุทธศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับภารกิจของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ คือ 1. ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง 2. ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3. ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 4. ยุทธศาสตร์ชาติด้าน  การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5. ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 6. ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มีเป้าหมายการพัฒนาที่มุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติบนพื้นฐานแนวคิด 3 ประการ ได้แก่ 1) ต่อยอดอดีต  2) ปรับปัจจุบัน 3) สร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต และยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญเพื่อพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี คนเก่งและมีคุณภาพ โดยคนไทย มีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา มีพัฒนาการที่ดีรอบด้าน และมีสุขภาวะที่ดีในทุกช่วงวัย มีจิตสาธารณะ รับผิดชอบต่อสังคมและผู้อื่น มัธยัสถ์ อดออม โอบอ้อมอารี มีวินัย รักษาศีลธรรม และเป็นพลเมืองดีของชาติ มีหลักคิดที่ถูกต้อง มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 มีทักษะสื่อสาร ภาษาอังกฤษและภาษา  ที่ 3 และอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่น มีนิสัยรักการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต สู่การเป็นคนไทยที่มีทักษะสูงเป็นนวัตกร นักคิด ผู้ประกอบการ เกษตรกรยุคใหม่และอื่นๆ โดยมีสัมมาชีพ ตามความถนัดของตนเอง  

กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561  -2580) ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฯ โดยยึดยุทธศาสตร์ชาติเป็นจุดเน้นด้านการศึกษา มีการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน การใช้สถานการณ์จริงจากสถานประกอบการและชุมชน “ปรับโรงงาน เป็นโรงเรียน” โดยมุ่งเน้นให้นักเรียน นักศึกษาได้ฝึกทักษะฝีมือควบคู่กับการฝึกทักษะการทำงาน ร่วมกับผู้อื่น เพื่อให้มีสมรรถนะที่เป็นไปตามความต้องการของสถานประกอบการ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ และประสบการณ์ไปใช้ได้จริง สามารถประกอบอาชีพได้ตามความถนัดและความสนใจ ตามแผนพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ 12  (พ.ศ. 2560 – 2564) มีนโยบายในการเพิ่ม สัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพและสายสามัญ โดยกำหนดเป้าหมายปี พ.ศ. 2564  ให้ได้ 50 ต่อ 50 ทั้งนี้จำเป็นต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอนอาชีวศึกษา และการพัฒนาครู เพื่อทำให้การเรียนการสอนในสายอาชีพมีคุณภาพสูงขึ้น 

จากรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี พ.ศ.2562 พบว่า คุณภาพด้านการพัฒนาการเรียนรู้ ซึ่งมีเป้าหมายให้วัยเรียน วัยรุ่น มีความรู้และทักษะในศตวรรษที่ 21 ครบถ้วน รู้จักคิด วิเคราะห์ รักการเรียนรู้ มีสำนึกพลเมือง มีความกล้าหาญทางจริยธรรม มีความสามารถในการแก้ปัญหา ปรับตัว สื่อสาร และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิผลตลอดชีวิตดีขึ้น ผลการประเมินด้านทักษะ ร้อยละ 62.30 ซึ่งต่ำกว่า ปี พ.ศ.2561 ที่มีผลการประเมินร้อยละ 63.00 และมีรายงานผลสัดส่วนการเข้าเรียนอาชีวศึกษา ต่อสามัญ ระดับประเทศ พบว่า ปีการศึกษา 2561 สัดส่วนผู้เรียน 27.20 ต่อ 72.80 และปีการศึกษา 2562 สัดส่วนผู้เรียน 35.62 ต่อ 64.38  ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นแต่ยังไม่บรรลุตามเป้าหมายตามแผนพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) ดังนั้นการพัฒนา คุณภาพผู้เรียนให้มีคุณลักษณะดังกล่าวจึงมีความจำเป็นจะต้องปรับหลักสูตรให้ทันสมัย พัฒนากระบวนการคิด และทักษะที่จำเป็น มีความยืดหยุ่นสอดคล้อง กับความสามารถและความถนัดของผู้เรียนแต่ละคน ตลอดทั้งสอดคล้องกับสภาพบริบทของแต่ละพื้นที่เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ ทักษะและประสบการณ์ที่ได้รับไปใช้ในการประกอบอาชีพได้ มีงานทำ สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมเวทีและประชาคมเพื่อการพัฒนาหลักสูตร ต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา เพื่อพัฒนาหลักสูตรระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีความเชื่อมโยงกับหลักสูตรในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น และพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการมีงานทำ เพื่อให้ผู้เรียนที่จบการศึกษาในแต่ละระดับสามารถใช้ความรู้และประสบการณ์ไปใช้ในการประกอบอาชีพได้ตามความถนัดและความสนใจ

1.2 วัตถุประสงค์ของโครงการ

เพื่อพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีความเชื่อมโยงการจัดการเรียนรู้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ในระดับจังหวัดและภูมิภาค

1.3 เป้าหมายโครงการ

1) เป้าหมายเชิงปริมาณ (Output)  สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด มีหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาและ อุดมศึกษา อย่างน้อย 1 หลักสูตรต่อจังหวัด

ตัวชี้วัดเป้าหมายโครงการ (Outputs) 

1. มีหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ในระดับจังหวัด     จำนวน 77 หลักสูตร

          2. รายงานการวิจัยหรือรายงานผลการดำเนินงานโครงการระดับประเทศ ระดับภาค และระดับจังหวัด

          3. รายงานการวิจัยที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ของการดำเนินงาน CLC ระดับประเทศ

2) เป้าหมายเชิงคุณภาพ (Outcomes)  ผู้สำเร็จการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา มีทางเลือกในการเข้าสู่การศึกษาในระดับที่สูงขึ้นที่หลากหลายสอดคล้องกับความต้องการและบริบทในพื้นที่

ตัวชี้วัดผลลัพธ์ (Outcomes) 

ทุกจังหวัดมีร้อยละของผู้เรียนต่อสายอาชีพเพิ่มขึ้น

1.4 กลุ่มเป้าหมายของโครงการ

1) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สถาบันการศึกษาทุกระดับ

2) ผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้เรียนในสถานศึกษาทุกสังกัด

3) ภาคีเครือข่ายการศึกษาของพื้นที่